Wednesday, July 2, 2014

ตีแผ่เบื้องหลังงานธนาคาร

ใครอยากเป็นพนักงานเทลเลอร์ ต้องอ่าน
ตั้งแต่เรียนจบ  ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ  เอกภาษาอังกฤษ 1 ใบ  และการค้าระหว่างประเทศ 1 ใบ

สัมผัสงานธนาคารมา 3 ปีกว่า ๆ วันนี้เป็นวันที่เรียกได้ว่า  หดหู่  สิ้นหวัง  ที่สุด

เราทำงานในธนาคารพาณิชย์  ที่การันตีตัวเองว่า  ได้กำไรอันดับ 1  โดยเข้ามาอยู่ในแผนกโอนเงินต่างประเทศ

แน่นอนว่า  ตอนสมัครงาน  และฝึกงาน  ใน Job description ก็ระบุเนื้องานว่า  ประสานงาน ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการโอนเงินต่างประเทศ  และรับแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ ทั่วโลก

ถึงจะไม่ได้ตรงตามที่จบมามาก  แต่เราก็คิดว่า  ยังอยู่ในสายงานเดียวกัน  คงจะนำไปต่อยอดกันได้  และได้ใช้ภาษาตามที่ได้เรียนมา  และตัวธนาคารเองมีความมั่นคงสูง  สวัสดิการดูดีเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ  พ่อแม่สนับสนุนและดีใจที่ลูกทำงานธนาคาร

แต่ตอนนี้  งานนี้  ไม่สำคัญอีกแล้ว

พนักงานธนาคารทุกคนตอนนี้  หน้าที่อย่างเดียวคือ  ขายผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของธนาคาร  โดยไม่สนใจว่าพนักงานจะมีใบอนุญาตหรือไม่

ไม่สนใจว่า  หน้าที่จริง ๆ ที่พนักงานแต่ละแผนกต้องรับผิดชอบ คืออะไร

พนักงานธนาคาร  กลายเป็นพนักงานขายประกัน  ขายบัตรเครดิต  ระดมเงินฝาก  ขายกองทุน  และทุก ๆ อย่างตามแต่ที่จะโดนเร่งผลงานมา ณ ตอนนั้น  โดยไม่สนใจว่า  งานประจำคืออะไร

เพราะตอนนี้  งานประจำ  มีน้ำหนักเพียง 30% และผลงานขาย 70%

พอโดนเร่งเป้ามาก ๆ  ลูกค้าเป้าหมายเข้าสาขาน้อยลงจนไม่สามารถทำยอดได้  พนักงาน “ส่วนใหญ่” จึงต้องใช้วิธี  หมุนเงิน/ควักเงินตัวเอง  ในการซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร  ให้อยู่รอดกันไปในแต่ละครั้ง

เช่น  โปรโมชั่นเงินฝาก  ก็ใช้วิธี  หมุนเงินตัวเอง/พ่อแม่  มาเปิดบัญชีใหม่อีกเล่ม
บัตรเครดิต  ก็ใช้ชื่อพ่อแม่  สามี ภรรยา  คนในครอบครัว สมัครบัตร  และเป็นบัตรเสริม
ประกันชีวิต/ ประกันอุบัติเหตุ  สมัครกรมธรรม์ให้ตัวเองและคนในครอบครัว  ทั้ง ๆ ที่มีกันหมดทุกคนแล้ว

วนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อย  ๆ  จนทุกวันนี้เรียกได้ว่า  เฉือนเนื้อตัวเองกิน

อาจมีคนสงสัยว่า  เราเอาอะไรมาวัดถึงเรียกว่าพนักงานส่วนใหญ่
เอาเป็นว่า  ทั้งแผนกเรา 14 ชีวิต  และที่เหลือ 2 แผนกอีกครึ่งสาขา  ยังไม่รวมถึงที่ได้แลกเปลี่ยนคห.กับสาขาอื่น ๆ

นอกจากจะต้องแบกรับความเสี่ยงในการทำงานแต่ละวัน  เช่น  เงินสดขาดบัญชี  หรือรับเงินปลอม (ในกรณีอยู่ฝ่ายแลกเงินต่างประเทศ)    ซึ่งค่าความเสี่ยงที่ธนาคารมีวงเงินให้ต่อเดือนนั้นน้อยนิด  เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ผ่านมือพนักงานทั้งเดือน

แล้วยังต้องเครียดกับการหายอดผลิตภัณฑ์  ที่โดนบังคับให้ขายในแต่ละเดือน

ใครทำยอดไม่ได้ตามเป้า  ก็จะโดนเรียกไปพบ  และข่มขู่  โดยไม่สนใจเนื้องานหลักที่ทำ  แต่สนใจเฉพาะยอดขาย

และจบท้ายด้วยประโยคว่า  ธนาคารไม่ได้เอาปืนมาจ่อหัวให้คุณสมัครเข้ามา  คุณเลือกเข้ามาเอง  คุณต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

อยากจะบอกกลับเหมือนกันว่า   ตอนเราสมัครงานนี้มา  ก็ไม่มีระบุใน Job description เหมือนกันว่า  ต้องเป็นนายหน้าประกันชีวิตและตัวแทนขายบัตรเครดิต

อยากถามอีกทีว่า  รู้จักประโยค Put the right man in the right job บ้างไหม  ถ้าพนักงานทุกคนไปหายอดกันหมด  แล้วจะมีงานหลักไว้เพื่ออะไร  แล้วจะแบ่งแผนกไปทำไม

พนักงานธนาคารทุกวันนี้  นอกจากจะความเสี่ยงสูง  (เสี่ยงต่อการทำเงินขาด/รับเงินปลอม) รายได้ต่ำ  แล้วยังต้องทำงานเกินหน้าที่  ล่วงเวลาโดยไม่ได้โอที  เสียค่ารถไปกับการเดินทางประชุมนอกสถานที่และนอกเวลาทำงาน  แน่นอนว่า  เบิกโอทีและค่ารถไม่ได้

และยังเสียสุขภาพจิต  ร่างกายเสื่อมโทรม  เพื่อนไม่คบ  ญาติมิตรหนีหาย

นี่ยังไม่รวมถึงการเมืองในสาขา  ใครเป็นเด็กปั้น  ใครเป็นเด็กนอกสายตา  ทำดีแค่ไหน  ก็ไม่ได้ประเมินเลื่อนขั้น
อธิบายอะไรไป  ก็ไม่รับฟัง  รู้แต่ว่าข้างบนสั่งมาเท่านี้  คุณต้องทำให้ได้

ปัจจุบันงานธนาคารเป็นงานที่อัตรา Turnover สูงมาก  นั่นคือ  เด็กจบใหม่เข้าทำงานมาก  แต่ก็ลาออกไปอย่างรวดเร็ว   เหลือไว้แต่คนรุ่นกลางอายุ 40 ขึ้นและรุ่นอาวุโสที่ไม่มีที่ไป

ใครอ่านมาถึงตรงนี้คงคิดว่า   อายุเรายังไม่มาก  มีโอกาสไป  แล้วจะทนทำไม

ที่ผ่านมามันทนได้ค่ะ  แต่พอมันเริ่มทับถมเรื่อย ๆ ก็ไม่คิดจะทนเหมือนกัน  ในเมื่อทำงานแล้วเนื้องานวนเวียน  ไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้า   เครียด  งานหนักเกินเงินเดือน  ก็ต้องลาจากเหมือนกัน

ใครอยากทำงานธนาคาร  ต้องทบทวนตัวเองใหม่
ว่ารับสิ่งต่าง ๆ ที่เราพูดมาได้หรือไม่  ถ้าได้  คุณเหมาะกับอาชีพนี้

ถ้าลังเล  ขอบอกว่า  อย่าลอง
เพราะคุณจะเสียใจที่ได้เข้ามา

ขอบคุณที่อ่านจนจบ  แค่อยากระบายและแชร์ภาพรวมของงานธนาคารในปัจจุบัน
ว่ามันไม่ได้สวยหรู  เหมือนที่เราเคยเห็นในสมัยเด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว



cr: Dr.Surachai; #LINE